×

โรคพิษสุนัขบ้าระบาดหนัก 13 จังหวัดพื้นที่สีแดง เฝ้าระวังอีก 42 จังหวัด

โรคพิษสุนัขบ้าระบาดหนัก 13 จังหวัดพื้นที่สีแดง เฝ้าระวังอีก 42 จังหวัด

    ประกาศ 13 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดง โรคพิษสุนัขบ้าระบาด ขณะที่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อีก 42 จังหวัด ด้านกรมควบคุมโรค แนะเจ้าของนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนด่วน

    เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ได้ประกาศเขตระบาดชั่วคราว ชนิดโรคพิษสุนัขบ้าแล้วใน 13 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์, ชลบุรี, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, น่าน, บุรีรัมย์, อุบลราชธานี, เชียงราย, ร้อยเอ็ด, สงขลา, ระยอง, ตาก และศรีสะเกษ โดยจัดเป็นพื้นที่สีแดง หมาย

ภาพจาก brighttv

    โดย นายสัตวแพทย์ จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ขอความร่วมมือจากประชาชนให้นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคพิษสุนัขบ้าระบาด ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าตามพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดเพื่อให้ประชาชนทราบถึงอันตรายของโรคนี้

    ขณะที่นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากการที่ประชาชนไม่นำสุนัข แมว ไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ปัจจัยที่ทำให้ยังมีสัตว์ติดเชื้อและมีผู้เสียชีวิตยังมาจากการที่ประชาชนปล่อยสัตว์เลี้ยงไว้นอกบ้าน จึงเสี่ยงต่อการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด รวมทั้งประชาชนขาดความตระหนักถึงการป้องกันการติดเชื้อ เช่น เมื่อถูกลูกสุนัข ลูกแมวกัด ข่วน เลีย ก็มักจะคิดว่าไม่เสี่ยง และไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

    ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบว่า ในช่วง 2 เดือนของปีนี้ มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 3 ราย ขณะที่สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวติดเชื้อแล้ว 247 ตัว ซึ่งสูงกว่าปีก่อนถึง 1.5 เท่า ดังนั้นจึงขอให้เจ้าของสังเกตสัตว์เลี้ยงของตนเองว่ามีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ โดยจะพบอาการ 3 ระยะคือ

– ระยะเริ่มแรก สัตว์เลี้ยงจะแยกตัว ไม่เล่นกับเจ้าของเหมือนปกติ มีอาการหงุดหงิด ม่านตาขยาย ไม่ตอบสนองต่อแสงประมาณ 2–3 วัน ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 2

– ระยะที่ 2 คือ ระยะตื่นเต้น เพราะสัตว์เลี้ยงจะมีอาการกระวนกระวาย ดุร้าย กัดทุกสิ่งที่ขวางหน้า เห่าหอนผิดปกติ ลิ้นห้อย น้ำลายไหล จะมีอาการเช่นนี้ประมาณ 1-7 วัน

– ระยะสุดท้าย คือ ระยะอัมพาต สัตว์เลี้ยงจะเป็นอัมพาตทั้งวัน ลุกไม่ขึ้น และตายในเวลาต่อมา

    ด้วยเหตุนี้ กรมควบคุมโรคจึงขอให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกันและเฝ้าระวัง โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงสุนัข-แมวในจำนวนที่พอเหมาะ คุมกำเนิดด้วยการทำหมัน พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี เลี้ยงในบริเวณบ้าน อย่าปล่อยออกไปนอกบ้านโดยไม่ดูแลเพราะหากถูกหมาบ้ากัดก็อาจติดโรคพิษสุนัขบ้า

    และหากถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลโดยใช้สบู่และน้ำสะอาดล้างบริเวณบาดแผลหลาย ๆ ครั้งอย่างเบามือ ใส่ยา โดยทาหลังจากการล้างแผลและซับให้แห้ง มาพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนภายใน 2 วัน และต้องกักสุนัขหรือแมวที่กัดไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์เลี้ยงตัวนั้นตายต้องรีบแจ้งให้ปศุสัตว์ในพื้นที่ทราบทันที

    สำหรับโรคพิษสุนัขบ้านั้น เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies) ซึ่งทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคน สุนัข แมว ลิง กระรอก ค้างคาว สุนัขจิ้งจอก สกังคก์ แรคคูน พังพอน ฯลฯ แต่ในประเทศไทยพบในสุนัขมากที่สุด จัดเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เพราะไม่มียารักษา หากติดเชื้อแล้วจะเสียชีวิตทุกราย

    ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละกว่า 60,000 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก โดยถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน แล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วและครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด โดยเฉพาะผู้ที่ถูกลูกสุนัขกัดมักคิดว่าลูกสุนัขไม่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจึงไม่ได้เข้ารับวัคซีน ดังนั้นเมื่อมีอาการป่วยจึงเสียชีวิตทุกราย

ที่มา www.brighttv.co.th , กรมควบคุมโรค, กรมประชาสัมพันธ์, กรมปศุสัตว์ , www.kapook.com

Share this content: