การคิดว่า “ได้ลงมือช่วยแล้ว” อาจเป็นการคิดเพียงข้างเดียวได้ หากผลลัพธ์ไม่ได้ช่วยบรรเทาผู้ประสบภัยอย่างที่ควรจะเป็น เช่นกรณีการพับกระดาษโอริกามิเพื่อรวมกันส่งไปให้กำลังใจผู้ประสบภัยในประเทศญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่นประเพณีการพับกระดาษโอริกามินกกระเรียน หากช่วยกันพับจนถึง 1,000 ตัวเชื่อกันว่าจะบันดาลให้คำอธิษฐานเป็นจริง โดยมากเพื่อให้หายจากโรคภัยหรือเพื่อให้มีอายุมั่นขวัญยืน โอริกามินกกระเรียนจึงเป็นเหมือนตัวแทนแห่งความหวังในสังคมญี่ปุ่น
แต่ในทางปฏิบัติจริง บางกรณีนอกจากโอริกามินกกระเรียนพับ 1,000 ตัวจะไม่ช่วยดับความหิวผู้ประสบภัยแล้วอาจกลายเป็นกองขยะชิ้นใหญ่โตที่เบียดพื้นที่หลบภัยซึ่งเดิมคับแคบอยู่แล้วให้แคบลงกว่าเดิมได้ครับ
⇓ ตัวอย่างภาพถ่ายผลสุดท้ายของโอริกามินกกระเรียนพับ 1,000 ตัวกลายเป็นขยะสร้างความรกและเป็นภาระในการจัดเก็บ
ในประเทศญี่ปุ่นสัปดาห์ที่ผ่านมาภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ประสบพายุฝนถล่มอย่างหนักตลอดทั้งสัปดาห์ ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดน้ำท่วมและพื้นดินถล่ม กว่า 100 ชีวิตต้องดับสูญไป อีกหลายคนบาดเจ็บและอีกหลายคนยังหายสาบสูญ
ยูสเซอร์ทวิตเตอร์นาม @NORIHannya คือผู้เคยประสบเหตุการณ์ภัยธรรมชาติร้ายแรงกับตัว คือภัยแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มครั้งร้ายแรงเมื่อ 11 มีนาคม 2011 (ชาวญี่ปุ่นรู้จักกันในชื่อ 3.11) จนต้องไปอาศัยในพื้นที่หลบภัยที่ผู้คนเบียดกันอยู่ซ้ำยังต้องอดข้าวอดน้ำเป็นเวลาหลายวัน ทำได้เพียงรอสิ่งของบริจาคจากผู้มีจิตอาสาเท่านั้น เขาวอนสังคมให้ลองหยุดคิดสักนิดแล้วมองในมุมของผู้ประสบภัยที่ต้องการสิ่งของเพื่อช่วยประทังชีวิตจริง ๆ บ้าง :
“ถึงผู้ยังไม่เคยประสบภัยพายุฝนถล่มครั้งใหญ่”
“กรุณาหยุดส่งโอริกามิพับนกกระเรียนเถอะครับ กระดาษพับเหล่านั้นนอกจากจะหนักและกินพื้นที่แล้ว ยังทำใจทิ้งได้ยาก เนื่องด้วยเป็นสิ่งของที่คุณทำขึ้นเพื่อให้กำลังใจ กระดาษพับพวกนี้กินประทังชีวิตไม่ได้ ขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินก็ไม่ได้ กระดาษพับเหล่านี้ทำขึ้นเพียงเพื่อให้ผู้ประดิษฐ์พึงพอใจเท่านั้น กรุณาเถอะครับ เปลี่ยนเป็นบริจาคอาหารหรืออย่างน้อยที่สุด เปลี่ยนเงินที่ใช้ลงทุนประดิษฐ์โอริกามิพับนกกระเรียนให้เป็นเงินสำหรับบริจาคจะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง จากผู้เคยประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งร้ายแรงเมื่อ 11 มีนาคม 2011″
ในสภาพผู้ประสบภัย ไร้บ้านให้กลับ ไร้เงินซื้อของ หิวโหยขาดอาหารขาดน้ำนั้นเป็นสภาพที่สิ้นหวังและต้องการกำลังใจอย่างมาก มียูสเซอร์อีก 1 รายช่วยเสริมว่า :
“ผมเคยเบียดเสียดไหล่ชนกับคนอื่นในพื้นที่หลบภัย ทั้งหิวข้าวและหิวน้ำเป็นเวลาถึง 2 วัน ในที่สุดกล่องบริจาคของผู้มีจิตอาสาก็ส่งมาถึง พวกเราเปิดมันออกด้วยความตื้นตัน แต่พบเพียงแค่โอริกามินกกระเรียนพับ 1 พันตัว ผมไม่เคยลืมความสิ้นหวังและความโกรธแค้นที่เกิดขึ้นในวันนั้นเลย”
เป็นเรื่องยากที่จะนึกภาพความยากลำบากหากไม่เคยประสบพบเจอภัยธรรมชาติกับตัวเอง ความเห็นชาวเน็ตแตกเป็นสองฝั่ง ทั้งที่เห็นด้วยอย่างยิ่งไปจนถึงขุ่นเคือง :
“โลกเรามันก็บ้าบอแบบนี้ ผมเข้าใจว่าในพื้นที่วิกฤตกระดาษนกกระเรียนไม่ได้ช่วยอะไรแต่อยากให้คิดอะ สักนิดก็ยังดี ถึงกลุ่มคนที่ใส่ใจพับโอริกามิขึ้นมาบ้าง”
“ไม่อะ ไม่คิดว่าพูดเกินไปบ้างเหรอ ? คนที่ช่วยเขาอาจจะไม่มีอย่างอื่นให้ก็ได้ อย่างน้อยเลยลงทุนลงแรงพับกระดาษขึ้นมา”
“ถ้าอยากพับกระดาษส่งก็ย่อมทำได้ครับ แต่ส่งพร้อมกับเงินหรืออาหารก็ได้นี่ ถ้าทำอย่างงั้นจริงเวลาผู้ประสบภัยเห็นนกกระเรียนพับเขาต้องดีใจมากและรู้สึกขอบคุณน้ำใจอย่างแน่นอน ดีกว่าส่งแค่กระดาษพับ 1,000 ตัวอีก”
“เห็นหลายคนชอบพูดทำนองว่ากระดาษพับนกกระเรียนเหล่านี้ทำขึ้นจากน้ำใจ แต่ผมว่าของที่ส่งไปแล้วเกะกะมันไม่ใช่ของที่ทำขึ้นจากน้ำใจหรอก”
“กระดาษพับนกกระเรียนไว้ส่งหลังจากภัยทุเลาลงแล้วผู้ประสบภัยจะแฮปปี้กว่านะ”
อย่างไรก็ตาม นับว่าความเห็นโดยส่วนใหญ่ของชาวเน็ต “เห็นด้วยว่าเงินและอาหารเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากกว่า” ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่าศูนย์บรรเทาสาธารณภัยบางแห่งเมื่อประกาศสิ่งของบริจาคที่จำเป็น กลับได้รับสิ่งของที่นอกจากไม่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว บางครั้งยังได้รับอาหารบูดและยาหมดอายุแล้วซ้ำเติมอีก
ในมุมมองผู้เขียน “จิตอาสา” ไม่ใช่จิตที่เกิดขึ้นจากความคิดมักง่ายแต่เป็นจิตเมตตาที่ปรารถนาอยากให้ผู้ประสบภัยมีชีวิตรอดต่อไปได้อย่างมีความหวังและเป็นแรงสำคัญเพื่อขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติต่อไปได้อย่างมั่นคงครับ
Source : SoraNews24